|
ฟังเครื่องเสียง... จริงหรือหูใครหูมัน โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ นักวิจารณ์ชอบหาทางออกในการวิจารณ์ว่า “แล้วแต่ชอบ” หรือ “หูใครหูมัน” เพื่อหลีกเลี่ยงการวิจารณ์โดยตรง หรือการพูดว่า เครื่องเสียงมีหลายสไตล์เสียง แล้วแต่ชอบ เหมือนซื้อเครื่องสำอางค์หรือเสื้อผ้า นี่เป็นความคิดที่ถูกต้องจริงหรือ ในการฟังเครื่องเสียง ความต้องการสูงสุดมิใช่เพื่อจำลองเสียงหรือเหตุการณ์การแสดงสดจริงๆ “อย่างถูกต้องทุกกรณี” มาไว้ในห้องฟังหรอกหรือ อะไรที่ผิดแผกไปจากนี้คือ “ของปลอม” คุณฟังเสียงเปียโนหลังละ 6 ล้านบาท คุณอยากให้มันเหมือนเปียโนตลาดหลังละ 2 แสนบาทหรือ ไวโอลินตัวละ 7 ล้านบาท ควรหรือที่จะฟังเหมือนตัวละ 7 หมื่นบาท นักร้องที่ออกโทนต่ำเพราะรูปร่างใหญ่โต เสียงเหมือนนักร้องผอมชลูด หมู่ไวโอลินฟังแล้วรู้สึกประกอบด้วยไวโอลินหลายๆ ตัวร่วมกันบรรเลง กลายเป็นเหมือนตัวเดียวโดดๆ เพราะเสียงลู่ไปโทนเดียวกันหมด เสียงตีระนาดไม้กลายเป็นระนาดพลาสติกหรือสังกะสี เสียงตีกลองใหญ่ทิมปานีกลายเป็นกลองโยธวาทิต วงดนตรีประเภท 1-2 ร้อยคนฟังแล้วเหมือน 20 คน นักร้องอุตส่าห์ใส่อารมณ์ร้องเต็มที่ ด้วยเสียงที่สั่นเครือ การจีบปากจีบคอ ทอดถอนลมหายใจ กระดกลิ้น ขมิบปาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มความสมจริง ถ้ามันถูกทำให้ดูเกลี้ยงเกลาไปหมดจนขาดรายละเอียดหยุมหยิม อารมณ์จะเกิดได้อย่างไร ของจริงแท้ มันก็คือจริงแท้ และมีได้เป็นหนึ่งเดียว เสียงเปียโนมีได้หลายแบบตามยี่ห้อ กลองชุดมีได้ทุกระดับราคาต่างเสียงกันไป นักร้องมีได้นับไม่ถ้วน บุคลิกเสียงไม่มีวันเหมือนกันได้จริง ความถูกต้องมีได้หลากหลายในตัวของมันเองอยู่แล้ว ไม่ใช่เอาความถูกต้องแต่ละสิ่งมาผ่านขบวนการบิดเบือนหรือผิดพลาดจนได้อาการบิดเบือนหลากรูปแบบ แล้วแนะนำให้ผู้เล่นเลือกความบิดเบือนตามต้องการ 40 ปีในวงการ ผ่านผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าถูก-แพง ใหญ่-เล็ก กล้าฟันธงได้เลยว่า ที่อ้างว่า “เครื่องเสียง” มีได้หลากหลายสไตล์นั้น ไม่เป็นอะไรอื่นเลย นอกจากพวกมันต่างมีความผิดพลาดในการออกแบบ การผลิต การติดตั้ง ที่ต่างกันไปเท่านั้น ไม่แน่ว่าเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจงใจให้ได้สิ่งหนึ่งโดยยอมเสียอีกหลายสิ่ง เพราะผู้ออกแบบหมดปัญญาได้สิ่งแรกมาโดยไม่เสียอะไรไป หรืออีกกรณีคือ ผู้ออกแบบสำคัญผิด เข้าใจการฟังผิดๆ พูดง่ายๆ ฟังไม่เป็น ทุกครั้งที่ได้พยายามแก้ไข ปรับแต่ง ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้ทำงานได้ถูกต้องในเชิงไฟฟ้าหรือฟิสิกส์อันมีเหตุมีผล ยิ่งแก้ไขความผิดพลาดได้มากเท่าไหร่ จะพบว่า ต่างยิ่งให้เสียงเข้าใกล้เสียงธรรมชาติที่ถูกต้องมากแค่นั้น และแน่นอน ต่างมุ่งสู่ กิริยาแห่งเสียงเดียวกัน ไม่แน่นะว่า การขายบุคลิกเสียง อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของวงการไฮเอนด์วันนี้ ทำให้มันมีบุคลิกเอียงไปทางซ้าย สักพักนักเล่นก็จะโหยหาบุคลิกแบบทางขวา ก็จะทำขวาตกขอบออกมา ให้นักเล่นแห่กันซื้อ เมื่อเกิดการเบื่อขวาและถามหาซ้ายอีก ก็จะทำซ้ายตกขอบออกมา วนเวียนกันเหมือนจับปูใส่กระด้ง จนบางคนเข้าใจผิด พูดว่า เล่นเครื่องเสียงไม่มีวันสิ้นสุด จริงๆ มีวันสิ้นสุดได้ในระดับหนึ่งๆ ถ้าเราอิงกับความถูกต้องเป็นธรรมชาติ เราจะสามารถอิ่มอกอิ่มใจได้ ที่ธรรมชาติระดับหนึ่งๆ โดยจะไม่โหยหาอะไรที่มากกว่านั้นขณะอยู่ที่ระดับนั้น ต่อเมื่อเรามีงบและมีโอกาสไปฟังธรรมชาติที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงจะอยากเขยิบขึ้นไป แต่ทุกครั้งที่กลับมาฟังธรรมชาติระดับที่ผิวเผินกว่าของเรา ก็จะยังคงมีความสุขได้ นี่คือความสิ้นสุด ในความไม่สิ้นสุด www.maitreeav.com |